แนวคิดของลัทธิหลังสมัยใหม่ (Postmodern) ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ
แนวคิดของลัทธิหลังสมัยใหม่ (Postmodern) ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ
เรียบเรียงจาก
“ศิลปะและปรัชญาในยุคโพสท์โมเดิร์น.”[ระบบออนไลน์].แหล่งที่มา http://www.midnightuniv.org/univmidnight/newpage12.htm
คำว่าหลังสมัยใหม่ (Postmodern) เป็นแนวร่วมที่ครอบคลุมการปฏิเสธวิธีคิดของ ยุคสมัยใหม่ (Modern) คำนี้ปรากฏอยู่ในหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบ และทัศนศิลป์ รวมไปถึงการพยายามอธิบายสังคมร่วมสมัยด้วยวิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่ ด้วย คำว่าหลังสมัยใหม่ (Postmodern) มีต้นกำเนิดจากสถาปัตยกรรมของสหรัฐอเมริกา ในปี 1966 เมื่อสถาปนิกชาวอเมริกัน โรเบิร์ต เวนทูรี (Robert Venturi) ได้ตีพิมพ์หนังสือสัมมนาชื่อความสลับซับซ้อนและการคัดค้านกันเองในสถาปัตยกรรม ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นสัตยาบันของแนวร่วมกลุ่มความคิดนี้ ด้วยเนื้อหาทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบแล้วคำๆนี้ อาจนับย้อยไปตั้งแต่ปี 1949 เมื่อนิโคเลาส์ เปฟเนอร์ (Nicolaus Pevner) ได้นำคำนี้ออกมาใช้โจมตีนักเขียนคนอื่นๆในช่วงเวลานั้น แต่ ชาร์ลส์ เจงค์ส (Charles Jenks) สถาปนิกนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้เขียนเกี่ยวกับหนังสือว่าด้วยสถาปัตยกรรมชื่อ “ภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ นิซึม 1977” ซึ่งทำให้แนวร่วมที่ไร้พรมแดนนี้มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง หนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ภาษาที่ใช้อยู่ในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ อาศัยการใช้เหตุผลตามวิถีทางของสมัยใหม่ เจงค์สได้เก็บรวบรวมภาพงานสถาปัตยกรรมนานาชาติ ทั้งหมดซึ่งเน้นส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ มากกว่าเน้นที่รูปทรง เน้นระบบสัญลักษณ์มากกว่าเหตุผล และเน้นความหมายหลายชั้นมากกว่าความหมายอย่างตื้นเขิน หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นความเป็นนานาชาติ
เจงค์สบรรยายว่าลัทธิหลังสมัยใหม่ เป็นรูปแบบผสม มีสาระเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของความทรงจำ เนื้อหาในท้องถิ่น และการใช้อุปมา มีความกำกวม เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมของมนุษย์ได้อย่างกว้างขวางขึ้น ยอมรับความแตกต่าง หลายหลาย และไร้ระเบียบ การจะเข้าในลัทธิหลังสมัยใหม่ นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะตัวปรัชญาเองมีความกำกวมไม่มีการตัดสินถูกผิด ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการทำความเข้าใน ลัทธิหลังสมัยใหม่ คือความต้องเข้าใจยุคสมัยใหม่ อย่างถ่องแท้เสียก่อน
ในทางศิลปะประเด็นสำคัญของศิลปะในยุคสมัยใหม่คือการเน้นในเรื่องของความเป็นต้นฉบับ (Originality) ซึ่งหมายความว่า ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ"ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่เป็นของตนเองและไม่เหมือนใคร ประเด็นต่อมา ศิลปะในยุคสมัยใหม่ จะเน้นและให้ความสำคัญในผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วต้องมีเอกภาพ (Unity) งานศิลปะชิ้นใดก็ตามที่ทำออกมาแล้ว ขาดเอกภาพ ก็จะไม่ถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่ดี ศิลปะในยุคสมัยใหม่ ได้มีการแบ่งแยกระหว่างศิลปะกระแสหลักและศิลปะกระแสรองออกจากกัน งานศิลปะซึ่งเป็นที่ยอมรับกันที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ หรือหอศิลป์ต่างๆ รวมทั้งผลงานศิลปะที่นักศึกษาทำกันขึ้นมา โดยร่ำเรียนกันมาจากสถาบันสอนศิลปะ เราจะจัดให้ศิลปะเหล่านี้อยู่ในกลุ่มของศิลปะกระแสหลัก (High Arts) ขณะเดียวกัน เราก็กันเอางานศิลปะที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาจากสถาบัน หรือผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ รวมทั้งงานที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาจากกลุ่มผู้ทำงานในกระแสหลักว่าศิลปะกระแสรอง (Low Arts) อย่างเช่น ศิลปะนอกกระแสต่างๆ ศิลปะของชาวบ้าน ต่อมา ศิลปะในยุคสมัยใหม่ เน้นรูปแบบศิลปะที่เป็นนานาชาติ (International) หมายความว่า ผลงานศิลปะและรวมไปถึงสถาปัตยกรรม จะต้องมีรูปแบบที่มีความเป็นนานาชาติ และเป็นสากล ศิลปินไม่ว่าชาติใด อยู่ในเขตภูมิศาสตร์ไหน หรือวัฒนธรมจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เช่น เอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา รูปแบบที่ผลิตออกมาจะต้องมีลักษณะเป็น นานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานทางด้านสถาปัตยกรรมจะมีแนวโน้มในลักษณะนี้มากตามเมืองใหญ่ๆของโลก
จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ศิลปะในยุคสมัยใหม่ มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวมันเองอย่างไร ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ ศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ ปฏิเสธสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ ศิลปะในยุคสมัยใหม่ บอกว่าจะต้องมีความเป็นต้นฉบับ จะลอกของคนอื่นมาไม่ได้ แต่ยุคหลังสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องของความเป็นต้นฉบับ
อันที่สอง ศิลปะในยุคสมัยใหม่ บอกว่าจะต้องมีเอกภาพในงานศิลปะ ส่วนยุคหลังสมัยใหม่ บอกว่าไม่จำเป็น ผลงานศิลปะสร้างขึ้นมาโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักเอกภาพ สามารถผสมผสานได้อย่างเต็มที่ หรือเราเรียกกันว่าลูกผสมหรือพันธุ์ผสม (Hybrid) ตัวอย่างเช่น การผสมกันทางด้านสถาปัตยกรรมในอาคารหลังหนึ่ง หรือผลงานทัศนศิลป์สมัยหลังนี้ มีลักษณะที่เป็นการข้ามทั้งทางด้านรูปแบบและเนื้อหา เช่น นำเอาผลงานศิลปะที่มีรูปแบบเหมือนจริงแบบกรีก หรือเรอเนสซองค์ มาผสมผสานกับมิคกี้เมาส์ก็ได้ และไม่ต้องไปสนใจเรื่องของหลักการของศิลปะในยุคสมัยใหม่ ซึ่งไม่ยินยอมให้ทำอย่างนั้น
เรื่องของศิลปะกระแสหลักและศิลปะกระแสรอง (High Arts, Low Arts) ในยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) ก็ไม่สนใจเช่นเดียวกัน ถือว่าไม่เกี่ยว. ศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ ไม่มีการแบ่งแยก ศิลปะข้างถนนก็เป็นศิลปะที่มีคุณค่าได้ หรืองานศิลป์ที่ซื้อมาจากร้านขายของ ก็เป็นศิลปะได้เช่นเดียวกัน ศิลปะในยุคนี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องให้สถาบันเกี่ยวกับศิลปะยอมรับ รูปแบบไม่จำเป็นต้องเป็นสากล จะมีลักษณะท้องถิ่นหรือพื้นบ้านก็ได้
หัวใจสำคัญของยุคสมัยใหม่ ก็คือ การยอมรับความเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (Specialist) ยุคหลังสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่พวก หลังสมัยใหม่ต่อต้านความเป็นผู้เชี่ยวชาญนอกจากนี้ในยุคสมัยใหม่ ยังเน้นในเรื่องคนตะวันตก เป็นผู้นำของโลก หรือเป็นเอตทัคคะในทุกศาสตร์ เป็นคนที่ประกาศวาทกรรมที่จริงแท้ที่สุดอันปฏิเสธไม่ได้ พวกหลังสมัยใหม่ ปฏิเสธเรื่องนี้และกล่าวว่าชนกลุ่มน้อยที่เป็นรองในสังคมหรือคนชายขอบหรือใครก็แล้วแต่ที่เคยด้อยกว่าในยุคสมัยใหม่ สามารถที่จะประกาศวาทกรรมของตนได้เช่นเดียวกัน สามารถที่จะสร้างวาทกรรม ของตนเองได้เช่นเดียวกันเหมือนกับคนผิวขาวหรือคนตะวันตก จะเห็นได้ว่าในยุคหลังสมัยใหม่ เป็นการตีกลับยุคสมัยใหม่ อย่างชัดเจน
ในยุคสมัยใหม่ เป็นยุคซึ่งได้สืบทอดความคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงมาตามลำดับ แต่ในยุคหลังสมัยใหม่ ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ บอกว่าผู้หญิงก็มีสิทธิของพวกเธอเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงก็มีวาทกรรมของตนเอง ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนด โดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆที่ออกมา ผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด เช่น การใช้นามสกุลของผู้ชายหลังแต่งงาน กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวรวมไปถึงเรื่องของการจัดการด้านทรัพย์สิน และกระทั่งความไม่เท่าเทียมในเรื่องของการประกอบอาชีพและค่าแรง จะเห็นถึงความไม่เสมอภาคกันเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ในยุคสมัยใหม่ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของความเจริญ และการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยุคหลังสมัยใหม่ บอกว่าไม่จำเป็น เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ทำลายธรรมชาติ ทั้งความเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การรณรงค์ต่างๆซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังสมัยใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนิเวศวิทยา เรื่องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เรื่องของสิทธิสตรี ล้วนเป็นความคิดที่ต่อต้านยุคสมัยใหม่
แนวคิดของฟูโกที่พูดถึงเรื่องของ "ความจริง" ว่าอะไรคือ "ความจริง" ซึ่งทำให้ทุกๆคนเชื่อตาม ฟูโกบอกว่า "ความจริง" เหล่านั้นเป็นเพียงความจริงที่สร้างขึ้นมาโดยคนที่มีอำนาจ (Constructing Truth) เท่านั้น ไม่ใช่เป็นความจริงที่ต้องถือว่าเป็นสัจธรรม เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่นักสังคมวิทยา นักปรัชญา นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจกันมาก "ความจริง" คุณสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้ โดยการประกาศวาทกรรมของคุณเอง ให้อำนาจกับตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปยอมรับวาทกรรมของคนอื่นหรือของคนที่มีอำนาจ
คำว่า "วาทกรรม" เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันคือ หมายถึง "ความรู้ ความคิด ความเห็น ที่มีอำนาจในการอธิบายให้คนอื่นเชื่อตาม" เช่น ปัจจุบัน เราเชื่อความรู้ ความคิด ของวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกมากกว่าอย่างอื่น อะไรก็ตามม ที่ไม่ตรงกับหลักของวิทยาศาสตร์ หลักการอันนั้นจะถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุนี้ วิทยาศาสตร์จึงเป็นเอกอุอัครมหาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ในยุคหลังสมัยใหม่ ไม่สนใจ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นวาทกรรมหลักในยุคสมัยใหม่ ซึ่งคุณไม่สามารถที่จะปฏิเสธมันได้ แต่บรรดานักคิดหลังสมัยใหม่ถือว่า อันนี้เป็นเพียงความจริงที่สร้างขึ้นมาโดยคนที่มีอำนาจ อันหนึ่งเท่านั้น
ชาร์ลส์ เจงค์ส สถาปนิกกล่าวว่า คำว่า “หลังสมัยใหม่” มันเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 1972 เวลา 15.32 นาที ที่เขาระบุลงไปอย่างนี้ก็เพราะ มันเป็นเวลาที่มีการระเบิดตึกสูงหลังหนึ่งในเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ตึกสูงดังกล่าวได้ถูกสร้างขึ้นมา โดยใช้หลักการของ Bauhaus (เบาเฮาส์) หรือหลักของสมัยใหม่โดยสถาปนิกในกลุ่มนี้ วัตถุประสงค์ของการสร้างตึกสูงหลังนี้ก็เพื่อจะให้มันมีประโยชน์ใช้สอยสูงสุด แต่สำหรับการใช้ชีวิตในตึกหลังนี้ มันค่อนข้างแย่ และคนที่อยู่ในตึกสูงหลังนั้นก็ทนอยู่ต่อไปไม่ไหว ดังนั้นจึงมีการระเบิดตึกหลังนี้ลง ซึ่งเขาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุค หลังสมัยใหม่ สำหรับสถาปัตยกรรมในยุคหลังสมัยใหม่ นั้น ลักษณะเด่นก็คือ มีการประดับตกแต่งมากขึ้น แต่สำหรับในยุคสมัยใหม่ ทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของประโยชน์ใช้สอย ทุกอย่างต้องมีความลงตัวพอดี แต่ในยุคหลังสมัยใหม่ คุณสามารถที่จะตกแต่งมันได้ และมีลวดลายประดับมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นลักษณะอันหนึ่งของหลังสมัยใหม่ ในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ หลายคนบอกว่า
"หลังสมัยใหม่" มันเริ่มต้นขึ้นมาราวปี 1980 หลังจากยุคของศิลปะรูปแบบมินิมอล อาร์ต (Minimal Art) กับยุคของ(Conceptual Art) เริ่มจะมีบทบาทน้อยลง และเริ่มจะมีศิลปินพวกหนึ่งซึ่งมาจากอิตาลี ตั้งต้นที่จะเขียนรูปสีน้ำมัน ซึ่งเขียนเป็นภาพคนซึ่งออกไปทางรูปแบบเอ็กเพรสชั่นนิสม์ (Expressionist) อันนี้เป็นการปฏิเสธการลดเรื่องของรูปทรงในงานศิลปะลงมาจนกระทั่งแทบไม่มีอะไรเหลือในงานแบบมินิมอล อาร์ต (Minimal Art) และ (Conceptual Art) ในยุคหลังสมัยใหม่ เริ่มที่จะมีสีสันมากขึ้น มีการใช้สีน้ำมันล้วนๆในงานจิตรกรรม หลังสมัยใหม่ มีลักษณะในเชิงวัฒนธรรม ศิลปะในยุคสมัยใหม่ มันจบลงตรงที่มินิมอล อาร์ตและคอนเซปช่วล อาร์ต ซึ่งศิลปินทำอะไรต่อไปอีกไม่ได้ เช่นเดียวกับในเชิงความคิด ในเชิงวัฒนธรรม มีกระแสของผู้คนมากพอสมควรที่เห็นว่า ความคิดในอุดมคติเป็นสิ่งที่พึ่งพาไม่ได้อีกแล้ว มีคนซึ่งผิดหวังในอุดมคติต่างๆ มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรมเหมือนกัน. ถ้าเราไม่มีความเชื่อที่แน่นอน เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ดีคืออะไร แล้วไม่ดีคืออะไร ในวัฒนธรรมหนึ่งสีขาวก็เป็นสีดำ สีดำก็เป็นสีขาว หรือดีคือเลว เลวคือดี อะไรเป็นตัวกำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด ศีลธรรม จริยธรรม มันจะตั้งอยู่บนฐานของอะไร? ซึ่งอันนี้เป็นคำถาม ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี
นอกจากนี้ โลกในยุคสมัยใหม่ พยายามที่จะ"สร้างโลกขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์แบบ" ให้ทุกคนมีความสุข ให้เป็นโลกที่เต็มอิ่ม แต่พวกหลังสมัยใหม่ สงสัยว่า โลกแบบนี้มันสร้างขึ้นมาเป็นจริงได้หรือไม่ มันเป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจะสร้างโลกขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์แบบโดยให้ทุกคนมีความสุข อันนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? หลายคนในยุคสมัยใหม่มีความมั่นใจในเรื่องของความเจริญ ในความก้าวหน้า ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ในการมีความคิดริเริ่ม แต่ก็มีศิลปินหลายคนซึ่งเริ่มสงสัยว่า เราจะทำอะไรต่อ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเคยถูกทำมาแล้ว เราจะทำอะไรต่อไปศิลปินเริ่มที่จะเขียนภาพคนขึ้นมาใหม่ ศิลปินบางคนถึงกับบอกออกมาอย่างชัดเจนว่า "หวังว่าจะไม่มีอะไรใหม่ๆอยู่ในงานของผม ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา มันมาจากสิ่งเก่าๆ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมาอีกแล้ว" ไม่มีอะไรที่จะมาควบคุมหรือมาบอกว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี หรืออะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี วัฒนธรรมของหลังสมัยใหม่ เห็นว่า การพัฒนาสามารถที่จะทำลายวัฒนธรรมได้ ไม่มีแก่นสารอีกแล้ว ไม่มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวอีกแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก มีอะไรที่ค่อนข้างน่าสงสัยเกี่ยวกับแก่นสารทางวัฒนธรรมของเขา โดยเฉพาะเรื่องของ "การพัฒนา" หมายถึงความเจริญ ที่เราคิดว่าชาวตะวันตกมีความเจริญ แต่ในความเป็นจริง มันมีคนเพียงแค่ 20-30% เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จริงๆจากการพัฒนาหรือความเจริญที่พูดถึงนี้เราจะเห็นว่า ครึ่งหนึ่งของพลเมืองโลกยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มากและที่น่าแปลกใจก็คือว่า
มีนักเขียนคนหนึ่ง ที่เขียนหนังสือเรื่อง วิธีหาอาหารของคนจรจัด หรือคนเร่ร่อน ซึ่งไปหาอาหารในถังขยะในหนังสือเล่มนั้นได้ให้ความรู้เกี่ยวกับว่า คุณจะไปหาอาหารเหล่านั้นได้จากที่ไหน ตรงมุมไหนของเมือง ซึ่งคุณจะได้พบอาหารที่ดีที่สุด มีเศษอาหารเหลือมากที่สุด แล้วควรจะกินอาหารแบบไหนซึ่งไม่ได้เป็นผลเสียต่อสุขภาพมากจนเกินไป
หลังจากหนังสือเล่มนี้ออกมา มีคนค่อนข้างต่อต้านมาก แต่นี้เป็นข้อเท็จจริง ที่บอกกับเราว่า มีคนเร่ร่อน มีคนจรจัด มีคนยากจนอยู่ตามเมืองใหญ่ๆจำนวนมาก ซึ่งอันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
แสดงว่าความเจริญ ที่เราถือว่าเป็นสิ่งที่ดีซึ่งจะนำผลประโยชน์มาให้กับพลเมือง มันเป็นสิ่งที่ล้มเหลว เป็นสิ่งที่ใช้งานไม่ได้ การพัฒนาที่เราได้เห็นมานี้ มักจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องเล่า ซึ่งอยากจะบอกว่าเป็นโครงสร้างเชิงเอกภาพ อย่างเช่น เชื่อกันว่า ถ้าทุกคนนับถือศาสนาคริสต์ ทุกคนก็จะดีขึ้น ทุกคนจะมีความสุข หรือเป็นเรื่องของมนุษยนิยมก็ได้ หรือเป็นเรื่องของเหตุผลนิยม หรือเป็นเรื่องของสังคมนิยม ซึ่งอันนี้ก็เป็นโครงสร้าง หรือแนวความคิดที่เป็นอุดมคติ ซึ่งพยายามสร้างเอกภาพให้กับทุกคนให้เชื่ออย่างนั้น แล้วจะมีความสุข สังคมจะมีความสมบูรณ์แบบ แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏ จะเห็นว่าระบบแบบนี้มันล้มเหลว และใช้การไม่ได้ หลายคนไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อีกแล้ว ความคิดในเชิงการเมืองนั้น ที่อันตรายที่สุดก็คือ ความปรารถนาที่จะทำให้ทุกคนมีความสมบูรณ์แบบ มีความเต็มอิ่ม และมีความเป็นสุข เมื่อเราพยายามสร้างสวรรค์บนโลกนี้ ผลที่ตามมาก็มักจะเป็นนรก ถ้าเราพยายามให้ทุกคนเชื่อตามที่เราเชื่อ ทุกคนต้องมีความเชื่ออันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นมันจึงทำให้เกิดนรกขึ้นมา มีสงครามเกิดขึ้น มีคนที่ไม่เห็นด้วย มีการต่อต้าน มีความขัดแย้ง ซึ่งถ้าเราไม่ยอมรับในความแตกต่างกันของคนอื่น ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมามากมาย ในเรื่องของพิพิธภัณฑ์ โลกของศิลปะ สถาบันเกี่ยวกับศิลปะ รวมทั้งสื่อต่างๆ มันกลายเป็นเครื่องมือที่ตามกระแสของค่านิยมกันมาก อันนี้ทำให้ผลงานศิลปะที่เราเห็นในแกลลอรี่ (Gallery) หรือพิพิธภัณฑ์(Museum) โดยมากจะเป็นงานที่สร้างความอึกทึก ตื่นเต้น แต่ไม่ค่อยมีอะไรที่ลึกซึ้ง เพราะว่าภัณฑารักษ์และนักจัดนิทรรศการมักจะเน้นในการดึงคนจำนวนมากมาดูงาน ดังนั้นผลงานศิลปะมันจะต้องมีความน่าตื่นเต้น น่าประทับใจซึ่งตรงกันข้ามกับศิลปะสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องความเงียบ ความสงบ เวลาดูก็ต้องพิจารณากันนานๆ
ในโลกของศิลปะมีการเน้นเกี่ยวกับทฤษฎีค่อนข้างมากในยุคหลังสมัยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การดูงานศิลปะในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การอ่านศิลปะ เช่น เราสามารถอ่านศิลปะได้ตามหน้านิตยสาร หรือสูจิบัตรต่างๆ และมักจะเป็นเรื่องของทฤษฎีซึ่งค่อนข้างจะอ่านยาก ถ้าเราอ่านเกี่ยวกับศิลปะมันพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปดูผลงานศิลปะอีกแล้ว ทั้งหมดนี้ก็คือแนวโน้มที่เราจะเห็นในโลกของศิลปะปัจจุบันนี้ค่อนข้างมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น